by NayNoy.Com Posted on 2022-05-08
คนส่วนใหญ่มีความเชื่อกันว่า ศีรษะล้าน มักเกิดจากความเครียด เชื้อราบนหนังศีรษะ รังแค ต่อมไขมันทำงานมากเกินไป ฯลฯ บางคนจึงซื้อยามาทา หรือแชมพูรักษา ผมร่วง มาลองใช้ แต่ก็ไม่อาจทำให้ผมหยุดร่วงได้ เพราะไม่ได้รักษาที่ต้นเหตุที่แท้จริง
สาเหตุหลักของ ผมร่วง ผมบาง หรือ ศีรษะล้าน แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ
1. เกิดจากกรรมพันธุ์ พบมากที่สุด เป็นสาเหตุให้เกิดศีรษะล้านแบบถาวร อย่างที่พบเห็นกันอยู่ทั่วไป ตำราศีรษะล้านไทย 7 แบบคือ ทุ่งหมาหลง ดงช้างข้าม ง่ามเทโพ ชะโดตีแปลง แร้งกระพือปีก ฉีกหางฟาด และราชคลึงเครา ในผู้ชายมักเริ่มจากมีการถอยร่นของแนวผมทางด้านหน้าลึกเข้าไปเป็นง่าม และเป็นมากขึ้นเรื่อยๆ ตามอายุ บางคนอาจมีศีรษะล้านด้านหลังตรงบริเวณขวัญร่วมด้วย สุดท้ายแล้วถ้าผมยังไม่หยุดร่วง ศีรษะล้านทั้ง 2 บริเวณจะลามเข้าหากันจนกลายเป็นศีรษะล้านบริเวณกว้าง ซึ่งจะเป็นมากน้อยแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับกรรมพันธุ์ของคนคนนั้น แบ่งความรุนแรงออกเป็น 7 ระดับ
ในผู้หญิง มีรูปแบบแตกต่างจากผู้ชาย คือจะมี ผมบาง หรือศีรษะล้าน เฉพาะตรงบริเวณกลางศีรษะเท่านั้น ส่วนแนวผมด้านหน้ายังคงดีอยู่ไม่ถอยร่นเข้าไปเหมือนในผู้ชาย แต่บางคนอาจมีศีรษะเถิกแบบผู้ชายก็ได้ แบ่งความรุนแรงออกเป็น 3 ระดับ
ระดับที่ 1 เริ่มมีผมบางลง จะเห็นได้ชัดตรงรอยแสก ของเส้นผม แต่ผมยังบางไม่มากนัก
ระดับที่ 2 ผมบางมากขึ้นจนเริ่มเห็นหนังศีรษะ พื้นที่ ศีรษะล้าน ขยายมากขึ้นกว่าเดิม
ระดับที่ 3 ผมบางมาก จนเห็นหนังศีรษะ ชัดเจน พื้นที่ศีรษะล้านขยายออก ไปทางด้านข้างโดยรอบ
ศีรษะล้านจากกรรมพันธุ์ มักพบว่ามีประวัติคนในครอบครัว หรือญาติ ศีรษะล้าน ร่วมด้วย แต่ก็ไม่จำเป็นต้องมีเสมอไป บางคนบิดามารดาศีรษะไม่ล้าน ส่วนลูกหลานกลับมีศีรษะล้าน ก็ได้ขึ้นกับปัจจัยที่ควบคุมให้ยีน ศีรษะล้าน แสดงหรือไม่แสดงออก ศีรษะล้านจากกรรมพันธุ์ จะทำให้เกิดการสูญเสียเส้นผมอย่างถาวร อย่างไรก็ดี แม้ว่ายีน ศีรษะล้าน จะกำหนดให้เซลล์สร้างเส้นผมบริเวณด้านหน้า และด้านบนให้เสื่อมสภาพและตายไป แต่กลับกำหนดให้เซลล์สร้างเส้นผมตรงบริเวณท้ายทอยและขมับทั้ง 2 ข้างอยู่คู่กับเราไปตลอดชีวิต ทำให้เราสามารถย้ายเซลล์ตรงบริเวณนี้ไปปลูกทดแทนผมที่ร่วงไปได้
2. สาเหตุอื่นๆ พบได้น้อยกว่า มีด้วยกันหลายโรค โรคที่พบได้บ่อยคือ ผมร่วงชนิดเป็นหย่อม หรือมีชื่อเรียกทางการแพทย์ว่า Alopecia Areata โรคของต่อมไทรอยด์ เช่น ต่อมไทรอยด์เป็นพิษ (Toxic goiter) ต่อมไทรอยด์ทำงานน้อย (Hypothyroidism) โรคโลหิตจาง ภาวะหลังคลอดบุตร หลังฟื้นไข้ และผ่าตัดใหญ่ การอดอาหารมากๆ เพื่อลดน้ำหนัก ความเครียด โรคผิวหนังบางชนิด โรคจิตที่ชอบถอนผมตัวเอง (Trichotillomania) มะเร็งรังไข่ที่ผลิตฮอร์โมนเพศชาย โรคเอสเอลอี โรคไข้ไทฟอยด์ โรคซิฟิลิส โรคเบาหวาน การเจ็บป่วยเรื้อรัง หรืออาจเกิดจากยาบางชนิด เช่น ยาเคมีบำบัดเพื่อรักษามะเร็ง เป็นต้น
แนวทางการรักษา
การรักษาขึ้นอยู่กับสาเหตุและระดับของผมร่วงว่าอยู่ในระดับใด ในรายที่มีสาเหตุจากโรคบางชนิด การได้รับยาเพื่อรักษาจนอาการของโรคหาย ผมก็จะกลับขึ้นมาดังเดิม ดังนั้น ในชั้นแรก แพทย์จะวิเคราะห์ปัจจัยที่ทำให้ผมร่วงก่อน การรักษานอกจากการได้รับยาแล้ว อาจมีการบำรุงรักษาด้วยสารอาหาร วิตามิน หรือสารอาหารที่จะไปช่วยปรับสมดุล ฮอร์โมนในร่างกาย และเพิ่มการไหลเวียนของเลือดในบริเวณหนังศีรษะ
ปัญหาหัวล้านเกิดจากปัจจัยหลายอย่าง อาจจะเกิดจากสาเหตุเดียว หรือจากหลายสาเหตุประกอบกันก็ได้ ผู้ที่ผมร่วงและมีแนวโน้มศีรษะล้าน ควรมีความรู้เรื่องสาเหตุของอาการผมร่วง เพื่อสามารถประเมินตนเองได้เบื้องต้น และสามารถบอกอาการ และสาเหตุที่สงสัยกับแพทย์ เพื่อให้ง่ายต่อการรักษามากขึ้น
สาเหตุส่วนใหญ่ของอาการหัวล้าน มีดังนี้
ฮอร์โมนเพศชาย เป็นสาเหตุหลักของอาการผมร่วงในเพศชาย เนื่องจากฮอร์โมนเพศชายที่ชื่อเทสโทสเตอโรน (Testosterone) และฮอร์โมนที่มีชื่อว่า DHT
ฮอร์โมนไดไฮโดรเทสโทสเตอโรน (Dihydrotestosterone) หรือที่เรียกว่า DHT คือฮอร์โมนที่สร้างขึ้นมาจากเทสโทสเตอโรน เมื่อเทสโทสเตอโรนเข้าไปที่เนื้อเยื่อบริเวณต่อมลูกหมาก ถุงน้ำเชื้อ ผิวหนัง รากผม รูขุมขน ตับ และสมอง เทสโทสเตอโรนจะถูกเอนไซม์5Alpha Reductaseเปลี่ยนให้กลายเป็น DHT
หากมี DHT ที่รากผม ฮอร์โมนตัวนี้จะไปจับกับตัวรับ (Receptor) ที่อยู่ที่รากผม ทำให้รากผมสร้างผมได้น้อยลง ผมเส้นเล็กลง ระยะเจริญสั้นลง ระยะพักนานขึ้น DHTมีในทุกคนแต่พันธุกรรมจะเป็นตัวกำหนดตัวรับ ให้ทำงาน ทำให้ผมบาง
เมื่อระยะเจริญของเส้นผมสั้นลง ผมก็จะมีโอกาสงอกยาวได้น้อยลง และการที่ระยะพักนานขึ้น ทำให้เส้นผมหยุดสร้างผมเป็นระยะเวลานาน ระยะพักของเส้นผมจะยิ่งนานขึ้นเรื่อยๆ เส้นผมเล็กลงจำนวนผมต่อรูรากผมลดลง จนสุดท้ายรากผมจะไม่สร้างผม และฝ่อไป เมื่อเกิดขึ้นในบริเวณกว้าง ศีรษะก็จะล้านในที่สุด
ระยะเจริญ ระยะพักคืออะไร? วงจรของเส้นผมมีกี่ระยะ? ศึกษาเพิ่มเติมได้ที่นี่ : ผมร่วงและวงจรของเส้นผม
ผู้หญิงหัวล้านสามารถเกิดจากฮอร์โมน DHT ได้เช่นกัน เนื่องจากในผู้หญิงเองก็มีฮอร์โมนเพศชายอย่างเทสโทสเตอโรน และ DHT ด้วย
หากร่างกายยังอยู่ในสภาวะปกติ ผู้หญิงจะมีฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน และ DHT น้อย ทำให้ฮอร์โมนไม่สามารถทำให้ผมร่วงได้มากนัก อีกทั้งในผู้หญิงยังมีฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) และฮอร์โมนอีสตราไดออล (Estrodiole) ที่ทำให้ผมแข็งแรง มีระยะเจริญนาน ส่งผลให้ DHT ออกฤทธิ์ได้น้อยลงไปอีก
ผู้หญิงจะผมร่วง และหัวล้านจากฮอร์โมนได้ก็ต่อเมื่อ ร่างกายผิดปกติจนฮอร์โมนเสียสมดุล หรือกำลังใช้ยาบางอย่างที่ทำให้ระดับฮอร์โมนผิดปกติ
เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับ DHT และสาเหตุของอาการหัวล้านจากฮอร์โมนในเพศชาย : DHT
กรรมพันธุ์มีผลอย่างมากต่อสิ่งมีชีวิต ในการกำหนดลักษณะต่างๆ เส้นผมของมนุษย์เองก็มีผลมาจากการกำหนดลักษณะของพันธุกรรมเช่นกัน
ผมจะเส้นบาง เส้นหนา ทนทานต่อปัจจัยที่ทำให้ผมร่วงได้มากหรือน้อย ระยะเจริญและระยะพักของเส้นผมสมดุลไหม ฮอร์โมนเพศมีมากเท่าไหร่ มี DHT มากเกินไปหรือไม่ ตัวรับฮอร์โมนที่รากผมทำงานได้ดีขนาดไหน ลักษณะเหล่านี้ถูกกำหนดโดยพันธุกรรมทั้งหมด
ดังนั้นกรรมพันธุ์มีส่วนสำคัญอย่างมากกับอาการหัวล้าน หากผมเส้นเล็กบาง ระยะพักนานมาก ฮอร์โมน DHT เยอะ ตัวรับฮอร์โมนทำงานได้ดีเกินไป และยังเป็นโรคผมบางจากกรรมพันธุ์อีก ก็มีโอกาสที่ผมจะบางจนหัวล้านได้มากแม้จะดูแลตัวเองดีขนาดไหนก็ตาม
ในช่วงชีวิตของเรานั้น รูขุมขนหนึ่งสามารถสร้างผมได้ชุดละ 1 – 4 เส้นพร้อมๆกัน แต่ละชุด ผมจะอยู่บนศีรษะได้ประมาณ 2 – 6 ปี และสามารถสร้างผมได้มากถึง 20 ชุดตลอดชีวิต
แต่ผมชุดที่สร้างขึ้นเมื่ออายุมาก จะไม่แข็งแรงเท่าชุดแรกๆ ผมจะบางกว่า เส้นเล็กกว่า ร่วงง่าย และเป็นผมหงอกด้วย ดังนั้นอายุที่มากขึ้น จะส่งผลให้ผมแข็งแรงน้อยลง
นอกจากนี้เมื่ออายุมากขึ้น ร่างกายอ่อนแอลง สมดุลฮอร์โมนต่างๆก็เปลี่ยนไป ทำให้มีปัจจัยหลายอย่างให้ผมร่วงจนหัวล้านมากขึ้น เส้นผมก็แข็งแรงน้อยลง ทำให้เส้นผมทนต่อปัจจัยต่างๆเหล่านั้นได้น้อยลง
นอกจากสาเหตุที่กล่าวมาแล้ว อย่างฮอร์โมน กรรมพันธุ์ หรืออายุ หัวล้านสามารถเกิดได้ด้วยสาเหตุอื่นๆอีก เช่น โรคที่ทำให้ผมร่วง ผลข้างเคียงของโรค หรือยารักษาโรค สภาวะทางจิตใจ ความเครียด หรือสารเคมี หากผมร่วงโดยไม่ทราบสาเหตุก็ควรพบแพทย์เพื่อรักษาที่ต้นเหตุต่อไป